วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ลำโพง ฟูลเร้นจ์ (Full Range)

    อะไรคือลำโพงฟูลเร้นจ์ ?
                  Full Range แปลแบบง่าย ๆ ตรง ๆ ก็เต็มย่าน(ความถี่) หมายถึงลำโพงที่สามารถ ตอบสนองความถี่ในย่านที่หูเราได้ยิน เช่น 20-20000 Hz ถึงแม้ แต่ละยี่ห้อ อาจจะโฆษณาว่าตอบสนองความถี่ได้สูง หรือต่ำกว่านี้ ก็แล้วแต่ครับ
                  คำถามต่อมา ก็คือ แล้วลำโพงฟูลเร้นจ์ จะมีกี่ไดรเวอร์กี่ตัวใน 1 ตู้ เพราะ ลำโพง 2 ทาง 3 ทาง ก็ตอบสนองความถี่ได้ตลอดย่าน ลำโพง ดอกเดียว บางยี่ห้อ ก็ ตอบสนองความถี่ได้ตลอดย่านเช่นกัน
                   ที่ถูก คือ ลำโพงฟูลเร้นจ์ หมายถึงลำโพงดอกเดียว ที่สามารถตอบสนองความถี่ได้ตลอดย่านการฟัง

      ทำไม ลำโพงฟูลเร้นจ์จึงถูกจับคู่กับแอมป์หลอด ?
                    ลำโพงฟูลเร้นจ์ส่วนใหญ จะมีความไวสูงมาก เช่น Lowther บางรุ่น ความไวมากกว่า 102 dB ที่ความไวขนาดนี้ แอมป์หลอดที่มีกำลังขับ 1 วัตต์ก็สร้างเสียงให้กระหึ่มคับห้องได้
       แล้วจำเป็นหรือไม่กับลำโพงฟูลเร้นจ์ ?
                     เรื่องคุณภาพเสียง ผมคงไม่ฟันธงครับ เพราะเป็นเรื่องความชอบของแต่ละคน ที่แน่ ๆ คือ ราคาลำโพงฟูลเร้นจ์ สูงเอาเรื่อง อีกทั้ง ตู้ลำโพง จะต้องเป็นไปตามแบบที่เหมาะสมกับลำโพงแต่ละรุ่น ซึ่งมีความซับซ้อนในการออกแบบและทำพอสมควร

    ถ้าจะให้แนะนำ ลำโพง สำหรับแอมป์หลอดแล้ว สำหรับผม ผมจะมองที่ลำโพง 2-3 ทาง รุ่นเก่า ๆ ของ อเมริกา หรือญี่ปุ่น ราคามือ 2 มือ 3 หรือมากกว่านั้น สภาพสวย ๆ ราคาหลักพันกลาง ๆ ความไว ประมาณ 90-94 DB ก็สามารถเล่นกับแอมป์หลอดได้ดีพอสมควรครับ
                     

วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ปรับแต่งแอมป์หลอด

    หากมีคำถามว่า ต้องการให้แอมป์เสียงเป็นแหลมมากขึ้น เสียงกลางมากขึ้น เบสลึกลง หรืออีกสารพัดคำถาม  คำตอบแนวยอดนิยมคงหนีไม่พ้น ให้ลองเปลี่ยนหลอด เปลี่ยนอุปกรณ์ เปลี่ยนนั่น เปลี่ยนนี่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ราคาเครื่อง แพงกว่าเครื่องแบรนด์ดังก็ยังไม่ได้เสียงที่ถูกใจ
    การทำแอมป์หลอด มีจุดเด่น  ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ดีมาก ๆ คือ ความยืดหยุ่นของ การใช้แรงดันไฟฟ้าในวงจร รวมถึงการใช้ค่าอุปกรณ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากที่ควรเป็นได้มากพอสมควร เครื่องก็ยังทำงานได้ คือมีเสียงดัง .. แต่สิ่งที่หลาย ๆ คนคาดไม่ถึงคือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง แรงดันไฟฟ้า และค่าอุปกรณ์ เสียงย่อมเปลี่ยนไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
    
    โดยทั่วไปแล้ว การใช้แรงดันในวงจรที่สูงขึ้น มักจะให้เสียงที่สดขึ้น ตอบสนองความถี่สูงได้ดีขึ้น (แต่ต้องระวังเรื่องกระแส และความต่างของแรงดันเพลท และคาโถด ให้อยู่ในช่วงที่หลอดทนได้ด้วย) ในเรื่องนี้ สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังมีพื้นฐานไม่ดีนัก ควรจะทดลองปรับแต่งแรงดัน โดยคำแนะนำของผู้ที่มีประสบการณ์จะดีกว่าครับ
     นอกเหนือจากแรงดันในวงจรแล้ว สิ่งที่กำหนดแนวเสียง หรือคุณภาพเสียงของแอมป์หลอดที่สำคัญอีกอย่างคือ หม้อแปลงเอ้าท์พุท ซีึ่งมีทั้งทำในไทย และของต่างประเทศ ราคาหลักร้อย จนถึงหลายหมื่น ตรงนี้ฟันธงได้ว่า ราคาแพงเสียงดีแน่ แต่ ที่ทำในไทยราคาถูกว่าของนอกหลายเท่าก็ดีได้ครับ

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เก็บมาเล่า "เรื่องห้องฟัง" ตอนที่ 2

    ตอนที่แล้ว บอกเล่าแนวทางการทำห้องฟังเพลงเบื้องต้นไปแล้ว ครั้งนี้ ต่อกันด้วยเรื่อง การหาตำแหน่ง ติดตั้งวัสดุกระจายเสียงด้านข้าง
    คุณหมอนพ แนะนำวิธีการแบบง่าย ๆ แต่อาศัยหลักการทางฟิสิกส์เบื้องต้น คือ มุมตก ของเสียง = มุมสะท้อน  เสียงเป็นพลังงานที่มีทิศทางเช่นเดียวกับแสง ดังนั้น หากเรานั่งอยู่ในตำแหน่งที่ฟังเพลง แล้วนำกระจก มาติดที่ผนังด้านข้าง ในระดับหู ลองเลื่อนกระจกไปด้านหน้า และหลังห้อง ในแนวระนาบ ตำแหน่งใดที่เรามองเห็นลำโพงในกระจก ตำแหน่งนั้นคือ จุดที่ เสียงสะท้อนจากลำโพง มาเข้าหูเรา และเป็นจุดที่ควรติดตั้ง วัสดุกระจายเสียง
  
   ส่วนวัสดุ ที่นำมาใช้ (อันนี้ผมแนะนำ) อาจใช้ของที่ทำในบ้านเรา หรือจะ DIY เองก็ได้ ครับ ผม DIY เองแบบง่าย ๆ ในราคาต้นทุนต่ำกว่าที่ทำขายถึง 6 เท่าครับ
     ดูรายละเอียดการทำแผงกระจายเสียงได้ที่  http://www.htg2.net/index.php?topic=63408.0

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เก็บมาเล่า "เรื่องห้องฟัง"

      บางคนอาจคิดว่า เครื่องเสียงดี ฟังที่ไหนก็ต้องเสียงดี .. เคยไปงานแสดงเครื่องเสียง แล้วมีความรู้สึกว่า เครื่องเสียงราคาหลักแสน หลักล้านที่แสดงอยู่นั้น เสียงช่างแย่เหลือเกินหรือไม่ครับ
       ในงาน "DIY @ ชายทะเล" ที่ผ่านมา คุณหมอนพ ได้มาเล่าให้ เพื่อน ๆ ที่มาร่วมงานฟังถึงเรื่อง ความสำคัญของห้องฟังเพลง และการจัดห้องฟังเพลง ผมจึงขอนำมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังต่อแบบย่อ ๆ ด้วยแล้วกันครับ
     คุณหมอนพ แนะนำดังนี้ครับ
           1. สัดส่วนของห้องฟัง ควรหารกันไม่ลงตัว เช่น 4.5 x 6 ม. (หรือเล็กลงหน่อยก็ 3.5 x 5 ม.)
           2. ด้านซ้ายขวาของห้อง ควรมีพื้นผิว หรือวัสดุที่เหมือน ๆ กัน และหากไม่ขนานกันได้ก็จะดี
           3. เพดานห้อง ควรสูงอย่างน้อย 2.7 ม. หรือมากกว่า หรือทำให้ลาดเอียงก็จะดี
           4. พื้นควรปูพรม
           5. ผนัง ด้านข้าง 2 ด้านควรติดตั้งแผงกระจายเสียง (ดิฟฟิวเซอร์)
           6. หากเบสบูม (เบสมากเกิน สั่นคราง) บริเวณมุมห้อง ควรใช้เบสแทรป ตั้งวางไว้
      เหล่านี้ เป็นแนวทางเบื้องต้นในการจัดห้องฟังเพลงครับ ห้องฟังที่ดี จะส่งเสริมคุณภาพเสียงที่ได้จากชุดเครื่องเสียง ให้แสดงประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่ ครับ
      ในทางกลับกัน ห้องฟังที่มีเสียงรบกวน ทั้งจากภายนอก การสั่นกระพือของผนัง เสียงก้องสะท้อน เหตุต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เสียงในย่านความถี่ใด ความถี่หนึ่ง หรือหลายย่านความถี่ บูม หรือออกมามากเกินไป เสียงที่ได้ยินจึงสับสน และรายละเอียดลดน้อยลงไป
      

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ลำโพงกับแอมป์หลอด

     หลายคนที่เริ่มเล่นแอมป์หลอด และรู้สึกผิดหวังกับเสียงที่ได้ นักร้องก็เสียงเพราะดี  แต่มันดูไม่มีเรี่ยวแรงกำลัง เมื่อเทียบกับแอมป์ทรานซิสเตอร์ตัวเก่า ข้อเสียเปรียบของแอมป์หลอด อยู่ที่กำลังขับครับ แอมป์หลอดแบบ Single end ที่เราทำเอง หรือ ซื้อใช้ มีกำลังขับ เพียง 2-3 วัตต์ หรืออย่างมากก็ 10 วัตต์ แล้วจะไปเทียบกับแอมป์ทรานซิสเตอร์เป็นร้อยวัตต์ได้อย่างไร
   

    หากตกลงปลงใจ จะเล่นแอมป์หลอดแล้ว คงต้องหันไปแก้จุดด้อย ด้วยการเปลี่ยนลำโพงกันแทนครับ
เวลาเราซื้อลำโพง เคยสังเกตุ เสปค ของลำโพงกันบ้างหรือเปล่า นอกจากลองฟังเสียง จุดที่ ต้องสังเกตุ สำหรับการเลือกลำโพงที่เหมาะกับแอมป์หลอด แบบง่าย ๆ คือ ความไวของลำโพง และ กำลังวัตต์ที่ลำโพงต้องการ ความไว ของลำโพง มีหน่วยเป็น เดซิเบล (dB)  กำลังวัตต์ที่ลำโพงต้องการ (Power handling) จะบอกเป็นค่ากำลัง ต่ำสุด และสูงสุด เช่น 10-100 W หมายถึงลำโพง ต้องการกำลังขับ ต่ำสุด 10 วัตต์ และรับได้สูงสุดไม่เกิน 100 วัตต์ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด 

   ส่วน ความไว จะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า ที่กำลังขับเท่า ๆ กัน ลำโพงที่มีความไวสูงกว่า สามารถให้ความดังได้มากกว่า (โดยปกติ ความไวลำโพงที่มากขึ้น 3 dB จะให้ความดังเพิ่มขึ้นเท่าตัว)
    คงพอจะ ทราบแล้วนะครับ ว่าจะเลือกลำโพงให้แอมป์หลอดได้อย่างไร .. แนวทางอีกอย่างหนึ่งในการเลือกลำโพงใช้กับแอมป์หลอดคือ เลือกให้ใหญ่เข้าไว้ ดอกลำโพงที่ใหญ่กว่า มีพื้นที่ผลักอากาศได้มากกว่า ทำให้เสียงดูมีพละกำลังมากขึ้นด้วย
    Tip : ลำโพง ขนาด 12 นิ้ว มีพื้นที่ผลักอากาศของกรวยลำโพง = ลำโพง 6 นิ้ว  4 ดอก ครับ

วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หลอดยอดนิยม (ของใครหลาย ๆ คน)

    ในบรรดาเครื่องเสียงหลอด แบรนด์ดัง ๆ ทั้งที่เป็นแบรนด์ใหม่ และแบรนด์ที่ผลิดเครื่องเสียงหลอดอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี ทุกแบรนด์จะมีเครื่องที่ใช้หลอดเบอร์เหมือน ๆ กันเช่น 6CA7/EL34  6L6/5881/6550  KT88  หลอดทั้ง 3 เบอร์นี้ถูกติดตั้งบนแอมป์ ทั้งในแบบวงจร Single end (SE)  และ Push Pull (PP) จึงนับได้ว่าเป็นหลอดยอดนิยม และเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด

     ทำไมหลอด ทั้ง 3 เบอร์นี้จึงเป็นที่นิยม .. เหตุผลโดยรวมแล้ว น่าจะเป็นเพราะ หลอดกลุ่มนี้ ถูกนำไปใช้ในเครื่องเสียงแบรนด์ดัง ๆ มายาวนาน เช่น Mcintosh Conrad johnson และอื่น ๆ รวมถึง ถูกใช้ในงานเครื่องขยายเสียงสำหรับวงดนตรี งานประชาสัมพันธ์ อีกเหตผลหนึ่ง หลอดกลุ่มนี้ มีทั้งราคาถูก ไปจนถึงแพง ถูกผลิตออกมาจำนวนมาก หาซื้อได้ง่าย ได้กำลังขับมากพอสมควร
   กำลังขับของแอมป์ในหลอดกลุ่มนี้ ..

                 หากทำเป็น SE แบบ Triode mode ได้กำลังขับประมาณ 3-4 วัตต์ / หลอด และ 8-11 วัตต์ในแบบ Pentode mode
                  หากทำในแบบ PP  จะได้กำลังขับไม่น้อยกว่า 20 วัตต์ / ข้าง (ใช้ 2 หลอด / ข้าง)
  
 

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

3 คน ขายทั่วโลก

      สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างของการทำการค้าของคนจีน คือ สิ่งที่เราเห็นบนเว็บไซด์ สินค้าเกี่ยวกับ เครื่องเสียง สวย ๆ ทั้งที่เป็บเว็บไซด์อิสระ หรือที่ขายบน Taobao (เป็น ebay จีน) ไม่น่าเชื่อว่า สินค้าบางอย่าง ผลิดกันแบบง่าย ๆ ด้วยแรงงานคน แค่ 2-3 ในร้านขนาด ประมาณ 36 ตรม.
    อาหมวยคนนี้เป็นคนลงอุปกรณ์บนแผ่น PCB ทำงานเรียบร้อยมากครับ หันค่าอุปกรณ์ไปทางเดียวกันหมด ดัด ตัดขาอุปกรณ์ได้สวย

  
ทำเป็นเครื่องแบบสำเร็จรูปก็มีครับ ราคาไม่เบา (แต่ถูกกว่ายี่ห้อต้นตำรับ 3-4 เท่า) 


3 พัน ยัน 3 แสน

    ชื่อตอนอาจดูแปลก ๆ หน่อย เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่อง จากเรื่องโมแอมป์หลอดจีนครับ
เดือนกันยายน ปี 2552 คุณหมอนัก DIY (คุณหมอพูลชัย) ชวนไปเที่ยวเมืองจีนกัน ในตอนแรก กะว่าจะไปดูแหล่งขายอุปกรณ์อีเลคโทรนิคส์ และ เที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวแถวกวางโจว แต่พอเดินทางไปถึง แผนการณ์เปลี่ยนไปหมด ด้วย connection ของคุณหมอ ทำให้ได้รับเชิญเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตแอมป์หลอด และเครื่องเล่น CD ขนาดใหญ่ ชื่อโรงงาน Shangling 

     โรงงานนี้ ผลิตเครื่องเล่น CD หลายยี่ห้อ ตั้งแต่ระดับต่ำสุด ขายกันในหลักพัน จนถึงระดับ ไฮเอนด์ ราคาหลายแสนบาท
   บรรยากาศในการทำ เป็นแบบ office ธรรมดา ๆ แต่ ในแต่ละปี ผลิตสินค้าได้มหาศาล  บ้านเรามีคนเก่ง ๆ เยอะแยะ น่าจะทำโรงงานแบบนี้มั่ง

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แอมป์หลอดจีน กับงาน DIY

   ช่วงที่ผ่านมา มีเพื่อนนำแอมป์หลอดจีนมาให้ลองฟัง เล่นหลายเครื่อง หลอดหลายเบอร์ เช่น 2A3 845 EL84 KT88 300B ด้วยความที่ มืออยู่ไม่สุข ฟังไป ก็รื้อไป ดูเทคนิคการสร้าง ดูวงจร ว่า แอมป์จีนทำอย่างไร รื้อดูหลายเครื่อง พอสรุปเทคนิคของแอมป์หลอดจีนได้ดังนี้
    1. ภาคจ่ายไฟ จะทำงานที่ราว ๆ 70-80% ของเสปคหลอด เท่านั้น น่าจะเป็นเพราะต้องการยืดอายุหลอด
    2. ส่วนใหญ่จุดไฟเลี้ยงใส้หลอดด้วย DC เพื่อลดการฮัม
    3. ส่วนใหญ่ลงอุปกรณ์บนแผ่น PCB
   แอมป์หลอดจีน มีจุดเด่นที่รูปลักษณ์ที่ต่ิอนข้างสวยงาม เพราะทำกับแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (เคยไปดูโรงงานที่ เสินเจ้น)


    จุดด้อย น่าจะเหมือน ๆ กับสินค้าจีนส่วนใหญ่ คือต้องลดต้นทุน ทำให้ อุปกรณ์ภายในไม่ดีนัก ประกอบกับ เทคนิคทั้ง 3 ข้อที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งอาจให้ผลดีในแง่การใช้งาน และการควบคุมคุณภาพในการผลิต แต่ก็ทำให้เป็นข้อจำกัดในเรื่องคุณภาพเสียงด้วย

ดูการ Modify แอมป์หลอดจีนได้ที่ http://www.htg2.net/index.php?topic=66829.0

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เล่นหลอดนอกกระแส ตอนที่ 1

   เป็นโชคดีประการ หนึ่งของคนที่ DIY เครื่องเสียงเองได้ เพราะมีโอกาสได้ลองทำแอมป์หลอด เบอร์แปลก ๆ ถูก ๆ ที่ไม่อยู่ในกระแสนิยมเล่นได้ แม้กระทั่ง นัก DIY เครื่องเสียงหลอดในต่างประเทศ ก็มีการนำหลอดถูก ๆ มาทำแอมป์เล่นกัน หลอดเบอร์ไหนเสียงดี ก็ตั้งฉายาให้เช่น poor man 300B , killing the giant เป็นต้น
    หลอดเบอร์ 6DN7 เป็นหลอดที่ใช้ใน TV รุ่นเก่า ภายในมีโครงสร้างเป็น ไตรโอด 2 ชุด ไตรโอดชุดเล็ก ทำเป็นภาคปรีไดรฟ์ ชุดใหญ่ทำภาคขยาย ได้กำลังขับ ราว ๆ 1 วัตต์ต่อหลอด
    ขนาดของหลอดไม่ใหญ่ ใช้แรงดันในวงจร แค่ 200 กว่าโวลท์ ขนาดของเครื่องเล็กกว่ากระดาษ A4 หากออกแบบแท่นเครื่องให้สวยงาม สามารถใช้เป็นเครื่องประดับห้อง และเปิดฟังเพลงไปพร้อม ๆ กันได้

    งบประมาณ สำหรับแอมป์เครื่องนี้ ประมาณ 6000 บาท
     รายละเอียดการสร้าง และวงจร ดูได้ที่ http://www.htg2.net/index.php?topic=51208.0