วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

งบน้อยอยากเล่นแอมป์หลอด

   เครื่องเสียง ดูว่าเป็นอะไรที่แพง ต้องลงทุนมาก ... งบประมาณคงไม่ใช่ปัญหา หากทำได้เอง
ถ้าจะเริ่มจาก ไม่มีอะไรเลย จะต้องใช้งบเท่าไร สำหรับ แอมป์(หลอด) 1 เครื่อง ลำโพง 1 คู่ เครื่องเล่นซีดี 1 เครื่อง
    ผมขอแนะนำ สำหรับนัก DIY สัก 10,000 บาท ครับ งบขนาดนี้ ได้อะไรบ้าง
               1. แอมป์หลอด (หลอดเบอร์ทั่ว ๆ ไป เช่น EL34 6L6 ฯลฯ)  งบประมาณ 6,000 บาท
               2. ลำโพง (ใช้ลำโพงมือสอง หรือลำโพงเซอร์ราวด์ขนาด 4-6 นิ้ว)  งบประมาณ 2,000 บาท
               3. เครื่องเล่นซีดี (อาจใช้ DVD หรือ CD rom+ภาคจ่ายไฟ) งบประมาณ 1500 บาท
               4. สายสัญญาญ สายลำโพง ทั่ว ๆ ไป หรือจะ DIY เอง ก็ งบที่เหลือครับ
  แอมป์หลอดในรูป ใช้หลอดเบอร์ 6L6 กำลังขับในโหมดไตรโอดของหลอดเบอร์นี้ประมาณ 3 วัตต์ งบประมาณ 6,000 กว่าบาทครับ (แพงที่หลอด หากใช้หลอดยี่ห้ออื่น ๆ จะลดค่าใช้จ่ายลงได้เกือบ 1000 บาท)
     เอาไว้มีเวลา จะลง วงจร และรายละเอียดการทำให้ดูครับ
รายละเอียดการทำแอมป์ 6L6 ในภาพ ดูรายละเอียดได้ที่  http://www.htg2.net/index.php?topic=48261.0

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

6528 SE เสียงดี และเรียบง่าย

       ช่วงระยะเวลา ประมาณ 20 ปีที่ทำแอมป์หลอดเล่นมา ยอมรับเลยครับว่า หลอด 6528 ไม่เคยอยู่ในโครงการที่จะลองทำเลย เนื่องจากเป็นหลอดที่รูปทรงธรรมดา ๆ ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ไม่มีในเครื่องแบรนด์ดัง จนกระทั่งในปี 2551 ผมได้จัดงาน meeting ขึ้นที่บ้าน เพื่อนสมาชิกที่มาร่วมงาน  คุณ อาณัติ ซึ่งเป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการหลอดมายาวนาน ได้นำแอมป์หลอดเบอร์นี้มาลองเปิดให้ฟัง ทำให้ผมติดใจในน้ำเสียง แต่ก็ยังไม่ได้สานต่อโครงการนี้ จนเมื่อต้นปีนี้เอง จึงได้มีโอกาส หยิบหลอดเบอร์นี้มาทำ
      หลอด 6528 ที่พบกันทั่ว ๆ ไป มีไม่กี่ยี่ห้อ ที่มักเจอกัน ก็ Raytheon , Cetron เป็นต้น ราคาหลอดเบอร์นี้ ในท้องตลาด เป็นหลอดใช้แล้ว สภาพดีก็ประมาณ 1000-1500  หลอดใหม่ก็ราว ๆ 2000-2500 บาท ...
      จุดเด่นของหลอด 6528 คือเป็นหลอดไตรโอดคู่ หลอดเดียวทำเป็นหลอด power ได้ 2 chanal  ใช้หลอดไดรฟ์ที่เหมาะสม หลอดเดียวก็เอาอยู่ ใช้ไฟเลี้ยงวงจรต่ำแค่ 200 V -220 V ได้กำลังขับราว ๆ 4-5 วัตต์/ข้าง เพียงพอที่จะขับลำโพงความไว 89 dB ขึ้นไป แนวเสียงของหลอดเบอร์นี้ ให้เบสได้นุ่มนวล กลางอวบใหญ่หน่อย ปลายมีรายละเอียดดีพอควร ผมชอบใช้ฟังกับเพลงแนวร้อง แนวบรรเลงที่มีเครื่องเคาะ หรือกีต้าร์คลาสสิค   .... สำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำแอมป์หลอดเล่น ขอแนะนำครับ ค่าตัวทั้งเครื่องประมาณ 8000-12000 แล้วแต่อุปกรณ์ที่เลือกใช้ครับ
   ดูรายละเอียดการทำ แอมป์ 6528 ได้ที่ http://www.htg2.net/index.php?topic=62750.0

45 se AMP คลาสสิคแอมป์

            หลอดเบอร์ 45 เป็นหลอดไตรโอด อีกเบอร์ที่ให้เสียงดีมาก ในแอมป์แบรนด์เนม เราอาจไม่ค่อยเจอ แอมป์หลอดเบอร์นี้มากนัก เท่าที่เห็น ทำขายแบบจริง ๆ จัง ๆ น่าจะเป็นแอมป์สายเลือดญี่ปุ่น เช่น Yamamoto หากจะถามว่าทำไมแอมป์แบรนด์เนม ถึงไม่ค่อยทำเครื่องเบอร์นี้ออกมาขาย คำตอบที่น่าจะตรงที่สุดคือ หลอดเบอร์นี้ ส่วนใหญ่มีแต่หลอดรุ่นเก่า  ราคาสูง หลอดใช้แล้ว สภาพดี ๆ ราคายังเกินคู่ละ 4000 ทำให้แอมป์แบรนด์เนมทั้งหลาย ไม่สามารถหาหลอดเบอร์ 45 ที่มีสภาพ แมทช์ คุณภาพดี ยี่ห้อเหมือนกันในปริมาณมาก ๆ มาเพื่อผลิตขายได้
           บริษัทผู้ผลิตหลอด รุ่นใหม่ ๆ เท่าที่ทราบ น่าจะมี แต่ของจีน ที่ผลิตหลอดเบอร์ 45 ออกมาในยี่ห้อ TJ fullmusic และ Sophia ราคาสูงพอสมควร
           แนวเสียงของหลอดเบอร์ 45 เท่าที่เคยลองทำ และรับฟัง จุดเด่น ๆ จะเป็นเสียงกลางที่สดใส ชัดเจน ปลายสดคม เบสมีแรงประทะ สำหรับนักฟังที่ชอบแนวเพลง พวกเครื่องเป่า กลอง เครื่องสาย น้อย ๆ ชิ้น จะไปได้ดี
            จุดด้อยของหลอดเบอร์นี้คือ ให้กำลังขับได้ต่ำ ประมาณ 1-1.5 วัตต์เท่านั้น    ถ้าคิดจะเล่น คงต้องอาศัยลำโพง ที่มีความไวไม่น้อยกว่า 91 dB แต่หากจะให้ได้พลังเต็ม ๆ ผมแนะนำลำโพงที่ความไวมากกว่า 94 dB ครับ

845 พลังที่เหนือกว่า

       กับระดับแรงดันไฟฟ้า ร่วม 1000 V หลายคนคงนึกไม่ถึงว่าในเครื่องเสียงหลอด จะใช้แรงดันไฟเลี้ยงวงจรที่สูงขนาดนั้นได้..
       แอมป์หลอด ยี่ห้อดัง ๆ ราคาเฉียดแสน หรือ แสนขึ้นไป หลายยี่ห้อ ผลิตแอมป์หลอด 845 ซึ่งถือเป็นรุ่นเรือธงของบริษัท เช่น Unison research  Cary Audio หรือแอมป์ อิตาลีอย่าง  New audio frontier ด้วยเหตุที่ว่า หลอด 845 สามารถให้กำลังขับ ได้มากกว่า 20 วัตต์ เมื่อออกแบบวงจร และเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม ทำให้สามารถขับลำโพงลำโพงมอนิเตอร์ชั้นนำ ที่ต้องการกำลังขับจากแอมป์มาก ๆ ได้
        แนวเสียงของหลอด 845 อาจไม่ให้เสียงร้องของนักร้องหวานนุ่มละมุนละไม แบบ 2A3 ไม่ได้ออกแบบ และทำเรียบง่ายแบบ 300B แต่ด้วยพละกำลังที่สูงกว่า ทำให้แอมป์ 845 พร้อมที่จะตอบสนองการเล่นเพลงได้หลากหลายแนว ในขณะที่ยังคงรักษาแนวทางเสียงแบบหลอดไว้ นักฟังที่นิยมแนวเพลงประเภทวงใหญ่ อย่างซิมโฟนี หรือแนวเพลงสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนของเสียงดนตรี หลอด 845 สามารถตอบสนองได้เป็นอย่างดี

       หลอด 845 ราคาไม่ได้แพงสุด ๆ อย่างที่คิด ราคาหลอด 845 จีน เริ่มต้นที่ประมาณ 5,000 บาท ไปจนถึงหลอด 845 เก่าเก็บ ของอเมริกา ราคาหลายหมื่นบาท (บางรุ่นยังถูกกว่า 300B)

300B พลังที่เพียบพร้อมด้วยคุณภาพ

    หลอด 300B เป็น 1 ในหลอดยอดนิยมที่มักจะถูกผู้ผลิดแอมป์เพื่อการค้าทำออกมาขายในราคาที่สูงพอสมควร สืบเนื่องมาจาก ราคาหลอด 300B ที่ค่อนข้างสูงกว่าหลอดเบอร์อื่น ๆ มากพอควร หลอด 300B ถูกที่สุดน่าจะเป็นหลอด จีน เช่น shugaung ราคา ประมาณ 6,000 บาท ส่วนหลอดที่มีราคาสูงมาก ๆ เช่น 300ฺ WE (Western Electric) บางรุ่น ราคาพุ่งไปมากกว่า 2,000 US $
     300B ดีอย่างไร ?  ในความคิดเห็นของผม หลอดที่ผมชอบเสียง จะเป็นหลอดไตรโอด ซึ่งหลอดไตรโอดในกลุ่มที่นิยมกัน จะมี 45  2A3 300B ไปจนถึงหลอดขนาดใหญ่ เช่น 211 และ 845 หลอด 300B ที่อยู่ในกลุ่มหลอดเล็ก ใช้แรงดันในวงจรไม่เกิน 400V หลอด 300B ให้กำลังขับไม่น้อยกว่า 8 วัตต์ ในขณะที่ 2A3 และ 45 ให้กำลังขับได้เพียง 2-3 วัตต์เท่านั้น ดังนั้น กำลังขับของ 300B จึงมากเพียงพอที่จะขับลำโพงรุ่นใหม่ ๆ ในท้องตลาดได้หลายรุ่น
     แนวเสียงของ 300B เป็นแบบหลอดไตรโอดแท้ ๆ มีรายละเอียดของชิ้นดนตรีสูง หากออกแบบวงจรให้เหมาะสม เลือกอุปกรณ์ที่ดีพอสมควร แอมป์ 300B จะให้ทั้งคุณภาพเสียง อิมเมจ ซาวด์เสตจแบบที่นักฟังต้องการได้เลยครับ

วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

2A3 หลอดเบอร์โปรด

    หลอด 2A3 เป็นหลอดที่ผมทดลองสร้างเป็น อินทิเกรตแอมป์ครั้งแรกประมาณปี 2541 และชื่นชอบเสียงของหลอดเบอร์นี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นหลอด รัสเซีย อเมริกา หรือ หลอดจีนบางรุ่น ผมทำแอมป์ 2A3   ไปแล้วไม่น้อยกว่า 20 เครื่อง กระจัดกระจายอยู่ในความครอบครองของเพื่อนฝูง ญาติผู้ใหญ่ แนวเสียงของหลอด 2A3 ที่ผมคิดว่าเป็นเอกลักษณ์ และไม่มีหลอดเบอร์ไหนเทียบเคียงมันได้ คือ ให้เสียงได้นุ่มนวล เพียบพร้อมด้วยรายละเอียดของเสียงดนตรี โดยเฉพาะหากท่านชอบฟังเพลงร้อง ทั้งนักร้องชาย และหญิง เสียงบรรเลงของเครื่องสาย หลอดเบอร์นี้ ให้คุณได้แน่นอน
   จุดเด่นที่สำคัญของหลอดเบอร์นี้อีกอย่างคือ ใช้วงจรที่เรียบง่าย อุปกรณ์น้อยชิ้น ทำให้ เครื่องมีราคาไม่แพงมากนัก
  .. อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อดี ย่อมมีข้อด้อย ข้อด้อยของหลอดเบอร์นี้คือ ให้กำลังขับเพียงแค่ 2-3 วัตต์เท่านั้น การเลือกลำโพงที่ใช้กับมันจึงสำคัญมาก เพื่อให้ได้ ความดัง และรายละเอียดของเสียงเพลงที่ดี ผมแนะนำให้ใช้กับลำโพงที่ความไวตั้งแต่ 91 dB ขึ้นไป

งาน DIY แอมป์หลอด

          หลายคนที่ชื่นชอบการฟังเพลง ชื่นชอบการเล่นเครื่องเสียง และรักการ DIY เมื่อก้าวเข้าสู่ วิถีแห่งหลอดแล้ว ยากที่จะหยุด
           20 ปีที่ผ่านมา แอมป์หลอดหลายเครื่อง หลายเบอร์ทดลองสร้าง บ้างก็ยังเก็บไว้ บ้างก็รื้อทิ้งไป บ้างก็แบ่งปันไปสู่เพื่อน ๆ นักฟังที่ชมชอบมัน

.... จนถึงวันนี้ งาน DIY ไปไกลเกินกว่าที่คิดไว้ แล้วจะค่อย ๆ เล่าให้ฟังครับ

บ้านบนเนิน และวิถีแห่งหลอด

ผมมีโอกาสสัมผัสหลอดสุญญากาศครั้งแรก ประมาณปี พ.ศ.2533 โดยเริ่มจากการทดลองทำปรีแอมป์แบบหลอดเดียว เบอร์ 4RHH8 ซึ่งเป็นหลอดแบบไตรโอดคู่ คล้าย ๆ หลอดเบอร์ดัง 12AX7 12AU7  ที่อยู่ในแอมป์และปรีแอมป์ทั่ว ๆ ไป การได้ทำ และทดลองฟังในครั้งนั้น เปลี่ยนแปลงวิถีแห่งการฟังเพลงของผมไปโดยสิ้นเชิง